การผลิตมะนาวนอกฤดู

รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี, สามารถ เศรษฐวิทยา และ สุขะวัฒน์ ทองเหลี่ยว

ในช่วงระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา การตลาดมะนาวของไทยยังคงมีรูปแบบเดิม คือมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ทำให้ราคาจำหน่ายตกต่ำจนเกือบไม่มีราคา จากนั้นราคาจะเริ่มขยับสูงขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป จนมีราคาสูงที่สุดระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน เรียกกันทั่วไปว่า “มะนาวหน้าแล้ง” ซึ่งมีราคาสูงขึ้นหลายสิบเท่าตัว วงจรดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากติดต่อกันมาทุกปีจากอดีตถึงปัจจุบัน ในการผลิตมะนาวนอกฤดูยังไม่พบว่ามีวิธีใดที่สัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มที่ และจำเป็นต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของต้นมะนาวเป็นอย่างดีเสียก่อน รวมทั้งมีการจัดการด้านเขตกรรมต่างๆ อย่างถูกต้อง ดังนี้

  1. ฤดูกาลการผลิตมะนาว  ในรอบ 1 ปี ต้นมะนาวสามารถให้ผลผลิตตามฤดูกาลได้ 2 ครั้ง โดยครั้งแรก (วงจรที่ 2) ต้นมะนาวออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคม–กันยายน ตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่เก็บเกี่ยวได้ ใช้เวลาระหว่าง ~4 ½  ถึง 5 ½ เดือน   ต้นมะนาวมีดอกชุดสุดท้ายประมาณปลายเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคม ซึ่งผลชุดนี้จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลปกติ ต้นมะนาวจะมีดอกที่เป็นชุดใหญ่อีกครั้ง (วงจรที่ 1) ประมาณปลายเดือนมีนาคม และเมษายนเมื่อผ่านช่วงของฤดูแล้ง และได้รับฝนติดตามมา การเก็บเกี่ยวผลมะนาวในรุ่นนี้จะตรงกับช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม และมีการออกดอกอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งจะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนธันวาคมและมกราคม  ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูกาลของมะนาว ราคาของผลมะนาวจึงเริ่มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงนี้เป็นต้นไป (ภาพที่ 1)  ดังนั้น หากชาวสวนต้องการผลิตมะนาวนอกฤดู ก็จำเป็นต้องหากรรมวิธีในการหลีกเลี่ยง หรือสร้างจุดเหลื่อม หรือใช้วิธีการยับยั้งช่วงวงจรของการออกดอกครั้งใหญ่ทั้งสองนี้ให้ได้

  

 ภาพที่ 1 วงจรการออกดอก และเก็บเกี่ยวผลผลิตของมะนาวในรอบปี

 

  1. คุณภาพของดอกมะนาว การออกดอกของมะนาวนั้นโดยปกติมักเกิดขึ้นพร้อมกับยอดอ่อนที่ผลิขึ้นมาใหม่ คุณภาพของดอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดผล และขนาดของผล แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

       (1) ดอกที่เกิดพร้อมกับปลายยอดอ่อนที่ผลิใหม่ จัดเป็นดอกที่มีคุณภาพสูงที่สุด
       (2) ดอกที่เจริญจากตาข้างของใบที่แก่หรือใบที่มีอายุมากกว่า 1 ฤดูกาล ดอกเหล่านี้ถือเป็นดอกที่มีคุณภาพรองลงมา สาเหตุอาจเนื่องมาจากขณะที่มีการผลิใบอ่อนนั้นสภาพต้นยังไม่สมบูรณ์หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม
       (3) ดอกที่เกิดจากกิ่งที่ไม่มีใบ จัดเป็นดอกที่มีคุณภาพต่ำที่สุด เนื่องจากไม่มีใบในการช่วยสร้างอาหาร มักพบเป็นดอกตัวผู้ (ไม่มีเกสรตัวเมียหรือลีบไป) โอกาสที่จะติดผลได้จึงต่ำมาก ดอกมักมีขนาดเล็กและไม่สมบูรณ์

  1. การออกดอกของมะนาว ต้นมะนาวมีการออกดอกได้ดีเมื่อผ่านช่วงของความแล้งประมาณ 20-30 วัน ทั้งนี้ ย่อมแล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้น ขนาดของทรงพุ่มต้นและสภาพของดิน หากเป็นดินทรายจะชักนำได้ง่ายกว่า สิ่งที่ควรจดจำไว้สิ่งหนึ่งคือ มะนาวจะไม่มีการออกดอกในกิ่งที่มีการติดผลอยู่ ดังนั้น หากต้องการให้กิ่งมีการออกดอกในช่วงที่ต้องการตามที่กำหนดไว้ ก็จำเป็นจะต้องกำจัดดอกหรือผลอ่อนในกิ่งเหล่านั้นออกไปให้หมดเสียก่อน
  2. เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูแบบต่างๆ จำเป็นต้องใช้การจัดการร่วมกัน ดังนี้

             4.1  การปลิดดอก และผลอ่อน มะนาวมีการออกดอกในฤดูกาลใหญ่ 2 ระยะ และกิ่งที่มีผลผลิตติดอยู่ ไม่สามารถออกดอก ดังนั้น การที่จะให้ต้นมะนาวออกดอกได้ดีตามต้องการจึงจำเป็นต้องกำจัดดอกและผลอ่อนที่ไม่ต้องการในฤดูกาลนั้น (วงจรที่ 2) ออกไปเสียก่อน (ภาพที่ 2) การตัดแต่งกิ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดดอก และผลอ่อนออกไปได้บางส่วนแล้ว ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดอ่อนใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมออีกด้วย แต่ไม่ควรตัดลึกมาก คือตัดลึกเพียง 5-10 ซม. จากปลายกิ่งลงมา ดอกและผลอ่อนที่เหลือสามารถกำจัดออกได้โดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต เช่น เอ็น เอ เอ (NAA) เข้มข้น 2,000 พีพีเอ็ม พ่นในระยะกลีบดอกโรย หรือ เอทีฟอน (ethephon) ความเข้มข้น 300 พีพีเอ็ม ใช้พ่นในระยะดอกบานรวมถึงผลอ่อนในระยะกลีบดอกโรย

ภาพที่ 2 การปลิดดอก/ผลอ่อน ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลออก เพื่อให้ต้นออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวผลนอกฤดูได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน  


 
             4.2 การยับยั้งการออกดอกในฤดู สารควบคุมการเจริญเติบโตที่มีชื่อว่า จิบเบอเรลลิก แอซิด หรือ จีเอ 3 (Gibberellic acid หรือ GA3) มีคุณสมบัติส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกิ่งใบในไม้ยืนต้น ใช้สารละลายความเข้มข้น 25 พีพีเอ็ม พ่นเพื่อยับยั้งการออกดอก โดยใช้ในระยะก่อนผลิยอดอ่อน หรือในระยะที่เพิ่งผลิยอดได้ไม่ยาวกว่า 7.5 ซม. (3 นิ้ว) ซึ่งเป็นระยะก่อนที่จะสร้างตาดอก สามารถยับยั้งการออกดอกได้ 1.5-2.5 เดือน หากพ่นช้ากว่านี้จะไม่สามารถยับยั้งได้ เนื่องจากมีการสร้างตาดอกมาเรียบร้อยแล้ว

              4.3 การกำจัดใบ ต้นมะนาวที่สมบูรณ์มาก มีพุ่มต้นแน่นทึบ หรือมีลักษณะที่เรียกว่า บ้าใบ การปลิดใบออกบ้างบางส่วน อาจมีผลในด้านการลดระดับไนโตรเจนในต้นให้ลดต่ำลง ช่วยปรับระดับของคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ต่อระดับของไนโตรเจน (nitrogen) หรือที่เรียกว่า ซี/เอ็นเรโช (C/N ratio) ให้สูงขึ้น อาจช่วยให้มีการออกดอกดีขึ้นได้ 
             4.4 การใช้สารเคมี สารในกลุ่มชะลอการเจริญเติบโต เช่น สารพาโคลบิวทราโชล (paclobutrazol) มีบทบาทในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน (Gibberellin) ของต้นมะนาว เมื่อมีฮอร์โมนนี้น้อยลง พืชจะมีการเจริญทางกิ่งใบลดลง ส่งผลให้มีโอกาสในการออกดอกมากขึ้น 

 

  1. การเตรียมการปลูก การจัดการสวนที่ดี และถูกต้องเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการผลิตมะนาวนอกฤดูโดยไม่ใช้สาร สิ่งซึ่งเกษตรกรและนักวิชาการต้องคำนึงถึงมีดังนี้

             5.1 โครงสร้างของดิน ดินที่มีลักษณะเป็นทราย มีการระบายน้ำที่ดี จะสามารถชักนำการออกดอกได้ดี และสม่ำเสมอกว่าดินที่อุ้มน้ำสูง และดินเหนียว
             5.2 การปลูก ควรเตรียมแปลงปลูกในลักษณะของแนวแถวยกเป็นแบบลูกฟูก สูงไม่น้อยกว่า 50 ซม. เพื่อช่วยให้เกิดการระบายน้ำได้ดีขึ้น การชักนำการออกดอก จะง่ายกว่า
             5.3 ขนาดของพุ่มต้น มะนาวที่มีขนาดพุ่มต้นเล็ก สามารถชักนำการออกดอกเพื่อการผลิตนอกฤดูได้ดีกว่า ต้นตอบสนองต่อสภาพการงดน้ำได้เร็วมากขึ้น (ใช้เวลาสั้นกว่า) ต้นที่มีขนาดพุ่มต้นใหญ่
             5.4 การปฏิบัติเพื่อชักนำการออกดอก ควรจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและนิสัยการออกดอกของมะนาว จำเป็นต้องทำลายดอกหรือผลในช่วงที่ไม่ปรารถนาทิ้งไปก่อน กิ่งจึงจะสามารถออกดอกได้ การเปลี่ยนแปลงจากตาใบไปเป็นตาดอกยังสามารถควบคุมได้ด้วย การให้ ปุ๋ยทางใบที่มีธาตุโพแทสเซียม (K) สูงในระยะที่ตาผลิก่อนมีความยาวยอดมากกว่า 7.5 ซม. เช่น 13-0-46, 0-0-50, 0-0-60 จะช่วยให้การสร้างตาดอกดียิ่งขึ้น
             5.5  การป้องกันการกำจัดศัตรูพืช ศัตรูพืชที่สำคัญของมะนาว ได้แก่  เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ไรแดง และโรคแคงเกอร์ หากใบถูกทำลายความสมบูรณ์ของต้นจึงลดลง  ทำให้ออกดอกลดลงตามไปด้วย

  1. การยืดอายุการเก็บรักษา ผลมะนาวสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือนขึ้นไปหากมีกรรมวิธีในการปฏิบัติที่ถูกต้อง

การใช้สารพาโคลบิวทราโซลกับการผลิตมะนาวนอกฤดู

สารพาโคลบิวทาโซล (paclobutrazol; PBZ) มีบทบาทในการยับยั้งการสังเคราะห์ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินในธรรมชาติของต้นพืช เมื่อได้รับสารนี้ พืชจึงมีการเจริญเติบโตทางกิ่งใบลดลง ส่งผลให้มีโอกาสการออกดอกมากขึ้น การพ่นสารพาโคลบิวทราโซล ให้ต้นมะนาว จะทำร่วมกับการตัดปลายยอด 1-2 ข้อแต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของความยาวกิ่ง การตัดยอดนี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิยอดอ่อนขึ้นมาพร้อมกันทั้งต้น ควรตัดในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน เพื่อให้ต้นออกดอกในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม และสามารถเก็บเกี่ยวผลมะนาวได้ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลมีราคาสูงสุด  โดยพ่นสารพาโคลบิวทาโซลที่ระดับความเข้มข้น 400 พีพีเอ็ม ภายหลังการตัดยอด 15 วัน และพ่นซ้ำอีกครั้งที่ 60 วัน จะทำให้ต้นมะนาวมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งการพ่นสารที่ 15 วัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการผลิใบอ่อนซ้ำซ้อน เพื่อให้กิ่งมีอายุถึง 90 วัน ก่อนการออกดอก และต้นมะนาวมีการออกดอกภายหลังการตัดยอดประมาณ 90-100 วัน

วิธีการผลิตมะนาวนอกฤดูที่แนะนำโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน
การเตรียมความพร้อมของต้น

                การปลิดดอกและผลอ่อน ด้วย NAA 2,000 พีพีเอ็ม หรือเอทีฟอน 300 พีพีเอ็ม พ่นในระยะกลีบดอกโรยและระยะผลมีอายุไม่เกิน 3 สัปดาห์หลังติดผล

                ตัดปลายยอด ตัดออก 1-2 ข้อ เพื่อกระตุ้นการเกิดยอดใหม่  ร่วมกับการให้ปุ๋ยสูตรโยกหน้า (ให้ไนโตรเจนมากขึ้น) เมื่อยอดใหม่อายุ 15 และ 30 วัน ปุ๋ยสูตรโยกหน้า ให้ทางดิน เช่น 21-7-14 หรือ 15-5-20 ผสมกับปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) สัดส่วน 4:1 อัตรา 100 กรัม/ต้น พ่นทางใบ เช่น 24-9-19 อัตราปุ๋ย 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุก 7-14 วัน

                รักษาใบอ่อน  โดยการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเมื่อยอดอ่อนอยู่ในระยะเขี้ยวงู ในวันที่ 1, 4 และ 7 หลังการแตกยอดใหม่

                กดการเติบโตของยอด พ่นสารชะลอการเติบโต พาโคลบิวทราโซล (paclobutrazol; PBZ) อัตรา 400 พีพีเอ็ม ทั่วทั้งทรงพุ่ม ครั้งที่ 1 หลังการตัดปลายยอด 15 วัน และครั้งที่ 2 หลังการตัดปลายยอด 60 วัน เพื่อไม่ให้ยอดใหม่เติบโตมากเกินไป และเพิ่มโอกาสในการออกดอก ให้ปุ๋ยบำรุงใบ เมื่อยอดใหม่อายุระหว่าง 30 – 90 วัน เปลี่ยนมาให้ปุ๋ยสูตรโยกหลัง (ให้โพแทสเซียมมากขึ้น) ปุ๋ยสูตรโยกหลัง ให้ทางดิน เช่น 15-5-20 หรือพ่นทางใบ เช่น 19-9-24 ดังกล่าวช่วยให้ต้นมะนาวลดกดการเติบโตของยอดใหม่ชุดที่ 2 เมื่อยอดใหม่ชุดแรก มีอายุ 40 - 50 วัน จะเริ่มมีการผลิยอดใหม่ชุดที่ 2 ออกมา เราสามารถกดการเติบโตของยอดใหม่ชุดที่ 2 นี้ โดยการให้ปุ๋ยทางดิน สูตร 0-0-60 อัตรา 100 กรัมต่อต้น หรือพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 0-0-50 หรือ 0-52-34 สูตรใดสูตรหนึ่งในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-40-22 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้ปุ๋ยเพื่อกดยอดเมื่อเห็นว่าเริ่มเห็นการแตกยอด การจัดการปุ๋ยดังกล่าวช่วยให้ต้นมะนาวลดการเติบโตทางกิ่งใบและสะสมอาหารเพิ่มขึ้น

การชักนำการออกดอก

                การงดให้น้ำ (กักน้ำ) หลังการตัดปลายยอด 60 วัน ยอดใหม่เติบโตได้ขนาด ทำการงดให้น้ำจนกระทั่งใบสลด
                การขึ้นน้ำ  จากนั้นทำการให้น้ำเต็มที่เป็นเวลา 1 – 2 วัน ร่วมกับการใส่ปุ๋ยสูตรโยกหลัง หลังจากนั้นให้น้ำในปริมาณน้อยลงเพียงเพื่อรักษาความชื้นของดิน จะมีการออกดอกภายใน 7-21 วันหลังขึ้นน้ำ

การดูแลผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยว

                หลังกลีบดอกโรย จนกระทั่งผลอ่อนอายุ 2 เดือน ควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์
                เมื่อมีการติดผลแล้ว เปลี่ยนมาให้ปุ๋ยสูตรโยกหน้าจนถึงระยะผลพร้อมเก็บเกี่ยว

ข้อควรจำ
                1. ไม่แนะนำให้ราดสารพาโคลบิวทราโซลลงดินเหมือนกับที่ใช้กับไม้ผลชนิดอื่นๆ เนื่องจากสารนี้มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของระบบรากอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลทำให้ต้นตายได้ จึงแนะนำให้ใช้การพ่นทางใบแทน
                2. ยอดหรือกิ่งมะนาวที่จะสร้างตาดอกได้ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 90 วันขึ้นไป

เอกสารอ้างอิง

รวี เสรฐภักดี.  2555.  การผลิตมะนาวนอกฤดู. โรงพิมพ์กิตติวรรณการพิมพ์ นครปฐม. 20 น.

 

** ข้อเตือนใจ **

          การผลิตมะนาวนอกฤดูไม่มีสูตรสำเร็จรูป จำเป็นต้องผสานร่วมกันระหว่างการจัดการน้ำ การใช้สารกลุ่มชะลอการเจริญเติบโตของพืช การจัดการทรงพุ่ม การจัดการด้านธาตุอาหาร ฯลฯ หากเข้าใจในสิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้วโอกาสของความสัมฤทธิ์ผลย่อมสูงตามไปด้วย