การผลิตมะนาวในห่วงซีเมนต์โดยใช้ต้นพันธุ์กิ่งปักชำแบบเปลือยราก

รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี สามารถ เศรษฐวิทยา และสุขะวัฒน์ ทองเหลี่ยว

                การผลิตมะนาวในห่วงซีเมนต์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในประเทศไทย  วิธีนี้มีข้อดีคือ รากมะนาวเติบโตในดินหรือวัสดุผสมที่เราจัดให้ สามารถควบคุมให้พืชได้รับน้ำและธาตุอาหารได้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากการปลูกลงดินในแปลงโดยตรงเช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินแน่นทึบ น้ำขัง เชื้อโรคในดิน ห่วงซีเมนต์จำกัดขอบเขตการเติบโตของราก ส่งผลให้ต้นมะนาวมีทรงพุ่มกะทัดรัด ง่ายต่อการดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิต และที่สำคัญคือในระบบนี้สามารถชักนำให้ต้นมะนาวขาดน้ำเพื่อส่งเสริมการออกดอกนอกฤดูได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับต้นมะนาวที่ปลูกลงดินในแปลง ซึ่งรากสามารถแผ่ได้กว้างและลึกกว่า

 ต้นพันธุ์มะนาวกิ่งปักชำแบบเปลือยราก

                ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน แนะนำให้ขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีปักชำ ซึ่งให้ผลดี สามารถผลิตกิ่งพันธุ์จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว กิ่งพันธุ์ออกรากเร็ว มีระบบรากแข็งแรง สามารถล้างวัสดุปักชำออกจากราก และขนส่งกิ่งปักชำในลักษณะเปลือยรากซึ่งมีน้ำหนักเบาไปยังผู้สั่งซื้อทางพัสดุไปรษณีย์ได้ (ภาพที่ 1) การบรรจุกิ่งพันธุ์โดยหุ้มด้วยพลาสติกและกระดาษหนังสือพิมพ์ช่วยรักษาความชื้นภายในห่อ และความสดของกิ่งพันธุ์ได้จนถึงปลายทางได้เป็นอย่างดี และกิ่งพันธุ์มีการตั้งตัวได้เร็วหลังย้ายปลูก

  

ภาพที่ 1 กิ่งปักชำมะนาวแบบเปลือยราก ที่ขนส่งมาทางไปรษณีย์

การเตรียมการ

            ห่วงซีเมนต์:  1 ชุด ประกอบด้วย ห่วงซีเมนต์ และฝาเพื่อให้ปิดห่วงด้านล่าง ขนาดที่แนะนำคือ ห่วงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก ระหว่างต้นในแถวเดียวกัน 3 เมตร และระหว่างแถว 5 เมตร ปลูกได้รวม 108 ต้น (ห่วง) /ไร่
           วัสดุปลูก: ประกอบด้วยส่วนผสมคือ ดิน แกลบดิบ ถ่านแกลบ ทราย และปุ๋ยคอก ในสัดส่วน 1:1:1:1:1 โดยปริมาตร
            กระถางพลาสติก: แนะนำให้ใช้กระถางพลาสติกสีดำขนาด 10-12 นิ้ว วางตรงกลางห่วงซีเมนต์โดยวางด้านปากกระถางลง (ภาพที่ 2) กระถางทำหน้าที่เป็นตัวพยุงไม่ให้ต้นมะนาวจม เมื่อนานวันไปวัสดุปลูกย่อยสลายและยุบตัวลง
             ระบบน้ำ: แนะนำให้ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ ติดตั้งหัวปล่อยน้ำขนาด 90 ลิตรต่อชั่วโมง 1 หัวต่อต้น เปิดน้ำวันละ 15-30 นาที ช่วงเช้า-เย็น หากใช้ปั๊มน้ำขนาด 1.5-2 แรงม้า สามารถเปิดน้ำได้พร้อมกันทั้งพื้นที่ 1 ไร่
             การป้องกันกำจัดเชื้อโรค: กิ่งพันธุ์มะนาวที่ดีควรปลอดจากโรคแคงเกอร์ส้ม ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่กำจัดได้ยากเมื่อเกิดขึ้นในสภาพแปลงแนะนำให้ป้องกันตั้งแต่เริ่มปลูกโดยการนำกิ่งพันธุ์ปราศจากอาการของโรคแคงเกอร์มาล้างราก และแช่ด้วยไตรโคเดอร์มาชนิดน้ำ (ผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) อัตรา 1 ลิตรผสมน้ำน้ำ 100 ลิตร เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนนำลงปลูก

 

ภาพที่ 2 การใช้กระถางพลาสติกวางคว่ำ เพื่อเป็นแท่นรองรับต้นมะนาวไม่ให้จม

การปลูกและการดูแลรักษา

                การป้องกันกำจัดแมลง: ต้นพันธุ์มะนาวเริ่มผลิยอดใหม่หลังย้ายปลูกประมาณ 7-15 วัน ให้ทำการพ่นยาป้องกันกำจัดแมลงเพื่อรักษาใบใหม่ โดยใช้สารเคมีจำพวก อาบาเม็กติน ไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอพริด ฟิโปรนิล หรือไดโนทีฟูแรน แนะนำให้พ่นที่ 1, 4, และ7 วันหลังแตกยอด (ระยะเขี้ยวงู) 

                การใส่ปุ๋ย: สำหรับแนวทางการใส่ปุ๋ย สัดส่วนของธาตุอาหารในปุ๋ย N-P-K ที่แนะนำคือ 3:1:2 หรือ 5:1:3 เช่นปุ๋ยทางดินสูตร 21-7-14, 20-4-16 (ใช้ปุ๋ย 15-5-20 ผสมกับ 46-0-0 อัตรา 4 ต่อ 1) อัตรา 5 กรัมต่อต้น หรือให้ไปกับระบบน้ำ ทุก 20-30 วัน ปุ๋ยทางใบ สูตร 24-9-19, 18-6-12 พ่นทุก 7-14 วัน ส่วนธาตุอาหารอื่นๆ ก็จำเป็นต้องเสริมให้หลังแตกใบอ่อนเป็นระยะ ซึ่งมักผสมมาอยู่ในปุ๋ยทางใบแล้ว

                การจัดทรงพุ่ม: เริ่มแต่งทรงพุ่มเมื่อต้นมะนาวเจริญเติบโตได้ประมาณ 1 เดือนเป็นต้นไป การแตกกิ่งก้านของมะนาวมักไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ส่วนใดของต้นที่มีใบจะมีตาติดอยู่และตาสามารถผลิออกมาได้ตลอด ริด กิ่งแขนงบริเวณลำต้นหลักส่วนล่างสุด (0-30 เซนติเมตรจากผิวดิน) ออกทั้งหมด บริเวณถัดขึ้นไป ปล่อยให้แตกกิ่งแขนงไปก่อน แล้วจึงเลือกตัดแต่งกิ่งออกภายหลัง เพื่อให้ลำต้นหลักมีลักษณะเป็นลำเดี่ยวสูงจากพื้น 60 เซนติเมตร (ระยะหน้าแข้ง) ถัดขึ้นมา ไว้กิ่งแขนงหลัก 2-3 แขนง แต่ละแขนงยาว 20 เซนติเมตร ให้ไว้กิ่งแขนงย่อยอีก 2-3 แขนงต่อกิ่ง แต่ละแขนงยาว 20 เซนติเมตร และควบคุมทรงพุ่มไม่ให้เส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 1 เมตร โดยทั่วไปใช้การตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงพุ่มหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ

                การตกผล: ใช้เวลาปลูกเพื่อเข้าสู่โครงสร้างระบบการผลิต 8-12 เดือน จึงจะเริ่มออกดอกและติดผลชุดแรก

                อายุการให้ผลผลิต: เมื่ออายุเข้าปีที่ 4-5 ต้นมะนาวจะเริ่มโทรม และมีต้นแสดงอาการเป็นโรคมากขึ้น เนื่องจากระบบรากถูกจำกัด และมีวัสดุปลูกน้อยลง หากไม่เติมวัสดุปลูกเข้าไปใหม่ เริ่มไม่คุ้มทุน และต้องรื้อปลูกใหม่