เทคนิคการขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีการปักชำ

รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี, สามารถ เศรษฐวิทยา และ สุขะวัฒน์ ทองเหลี่ยว
ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140 โทร. 034-351-934 โทรสาร 034-351-934  

                แต่เดิมนั้นราคาผลมะนาวจะขยับสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวมีราคาดีที่สุดในรอบปี แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มะนาวมีราคาดีเกือบตลอดทั้งปี เป็นเหตุให้เกษตรกรสนใจ และหันมาปลูกมะนาวมากขึ้น ทั้งการผลิตในฤดู หรือนอกฤดู ในสภาพแปลง และการปลูกในห่วงซีเมนต์ จึงมีความต้องการกิ่งพันธุ์มะนาวที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยความต้องการกิ่งพันธุ์มะนาวจะมีปริมาณมากระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม การผลิตกิ่งพันธุ์มะนาวให้ได้ตามความต้องการของตลาดนั้น จำเป็นจะต้องมีการวางแผนการผลิต และกิ่งพันธุ์มะนาวที่จำหน่ายนั้นจะต้องมีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของตลาด

 การขยายพันธุ์มะนาว

                วิธีขยายพันธุ์มะนาวที่นิยม ได้แก่ การตอนกิ่ง การปักชำ และการเสียบยอด การขยายพันธุ์โดยการปักชำ เป็นวิธีการที่ง่าย ทำได้ครั้งละจำนวนมาก ย่นระยะเวลาในการย้ายกิ่งพันธุ์ลงแปลงปลูกให้เร็วขึ้น กิ่งพันธุ์ที่ได้มีความแข็งแรง มีลักษณะเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ สามารถกำจัดโรคได้ง่ายกว่าการขยายพันธุ์แบบอื่นๆ เมื่อย้ายลงปลูก ต้นพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ใช้เวลา 2-3 ปีก็จะเริ่มให้ผลผลิต 

                ส่วนการขยายพันธุ์โดยเมล็ดไม่เหมาะสำหรับการผลิตมะนาวเชิงการค้า เนื่องจากต้นที่ได้จะไม่เหมือนต้นแม่พันธุ์ดี และใช้ระยะเวลาปลูกนานกว่ากิ่งปักชำกว่าจะเริ่มให้ผลผลิต ต้นจากการเพาะเมล็ดมีระบบรากแก้ว แข็งแรง และมักจะใช้เป็นต้นตอ

 วิธีการตัดชำกิ่ง

การปักชำ เป็นการขยายพันธุ์พืชโดยการตัดกิ่งจากต้นแม่พันธุ์ มาปักในวัสดุปักชำเพื่อให้เกิดรากและยอด ได้เป็นพืชต้นใหม่ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ทุกประการ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  1. คัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง จากต้นแม่พันธุ์ดี มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งประมาณ 0.5-1 ซม. ตัดกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ พ่นน้ำให้แก่กิ่งพันธุ์เป็นระยะ เพื่อช่วยลดการคายน้ำ
  2.    เตรียมกิ่งปักชำขนาดยาวประมาณ 6-9 นิ้ว มี 3-5 ข้อ มีใบติดอยู่ 4-6 ใบ โดยรอยตัดควรอยู่บนข้อและใกล้กับข้อให้มากที่สุด  

 

  1. ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดโคนกิ่งเป็นรูปปากฉลามหรือฝานบวบ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการออกรากของกิ่งปักชำ โดยหันด้านคมของกรรไกรเข้าหาตัวกิ่งพันธุ์เพื่อไม่ให้แผลช้ำ ถ้าพบว่ามีแผลช้ำบริเวณรอยตัด ให้ใช้คัดเตอร์ตัดรอยช้ำออกอีกครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกราก

  1. ใช้คัดเตอร์กรีดบริเวณโคนกิ่งในแนวตั้งความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร 3-4 รอย จะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการออกรากของกิ่งปักชำ รอยกรีดที่ไม่เรียบ หรือแฉลบ มักทำให้โคนกิ่งเน่า

 

  1. หลังจากนั้นนำกิ่งมะนาวแช่ลงในน้ำที่ผสมสารป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้าทำลายทางบาดแผล แนะนำให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าชนิดน้ำ อัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 100 ลิตร ป้องกันกำจัดเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงเกอร์มะนาวประมาณ 2 ชั่วโมง

 

  1. จุ่มโคนกิ่งปักชำในสารเร่งราก เช่น เอ็นเอเอ ( NAA) เพื่อเพิ่มการออกรากของกิ่งพันธุ์มะนาว ความเข้มข้นของ เอ็นเอเอ ที่แนะนำคือ 2,700 พีพีเอ็ม (ppm) เตรียมได้จากสารเร่งรากการค้าที่มีเนื้อสารออกฤทธิ์เอ็นเอเอ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตรา 60 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร แช่นาน 30 วินาที
  1. ปักชำกิ่งลงในถุงดำขนาด 2.5x6 นิ้ว วัสดุปักชำที่ใช้คือ ถ่านแกลบผสมทรายอัตรา 1:1 โดยปริมาตร ใช้ไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับกิ่งปักชำ แทงนำลงในวัสดุปักชำก่อน แล้วจึงปักชำกิ่งตามลงไป เพื่อไม่ให้แผลช้ำ ปักลึก 5-8 ซม. และกดบริเวณโคนกิ่งให้แน่น วางในกระบะพ่นหมอก
  2. ใช้วัสดุพรางแสง ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และบังกระบะปักชำไม่ให้มีลมมาปะทะเพื่อไม่ให้กิ่งปักชำขยับและลดการคายน้ำ
  3. สังเกตวัสดุปักชำหรือน้ำที่จับบริเวณใบแห้งเกินไปหรือไม่ ถ้าแห้งเกินไปควรพ่นน้ำให้ถี่ขึ้น

  

  1. กิ่งปักชำออกราก และพร้อมย้ายปลูกได้ภายใน 30-45 วัน หากยังไม่สามารถนำออกปลูกได้ ควรมีการให้ปุ๋ยทางใบเสริม แต่ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป เพราะรากภายในถุงจะเริ่มขดวน ทำให้พืชตั้งตัว และเติบโตไม่ดีหลังการย้ายปลูก

 

ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี
1. เลือกกิ่งที่มีอาหารสะสมมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ อาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน 1 ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก การเกิดรากและ แตกยอดก็จะง่ายขึ้น 
2. อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำ ควรเลือกกิ่งจากต้นแม่ที่มีอายุน้อย เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมาก
3. เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง  แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งที่มีใบติดอยู่ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง
4. การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ การตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญ นั้นมีความแข็งพอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยาก การใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อ
5. การทำแผลที่โคนกิ่งแผลที่โคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและสารเร่งรากได้มากขึ้นอีกด้วย
6. การใช้สารเร่งรากช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น สารเร่งรากเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มออกซิน (Auxins) เสื่อมสลายตัวช้า สารเร่งรากที่ใช้กันทั่วไปได้แก่ เอ็นเอเอ (NAA; naphthalene acetic acid) และไอบีเอ (IBA; indole-3-butyric acid) การให้สารเร่งรากกับกิ่งปักชำ ช่วยให้กิ่งปักชำเกิดรากสม่ำเสมอกัน เกิดรากเร็วขึ้น มีจำนวนรากมากขึ้น และมีระบบรากที่แข็งแรง แต่ในการใช้ต้องคำนึงถึง ช่วงความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารเร่งราก วิธีการให้สาร และรูปของสารเร่งรากที่จะใช้

 วิธีการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพื่อกระตุ้นการเกิดรากของกิ่งปักชำ

                สารควบคุมการเจริญเติบโตที่ใช้กระตุ้นการเกิดรากของกิ่งปักชำเป็นสารในกลุ่มออกซิน (Auxins) เรียกกันทั่วไปว่า ”สารเร่งราก” รูปที่ใช้มีทั้งที่เป็นสารละลาย และเป็นผง วิธีการให้สารเร่งรากกับกิ่งปักชำ แบ่งออกเป็น 3 วิธีได้แก่

  1. วิธีจุ่มเร็ว (Quick dip method ) เป็นวิธีที่นิยมใช้ เนื่องจากรวดเร็ว สามารถให้สารเร่งรากกับกิ่งปักชำจำนวนมากได้พร้อมๆ กัน และแต่ละกิ่งได้รับสารเร่งรากในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน เตรียมสารเร่งรากในรูปสารละลาย มีความเข้มข้นค่อนข้างสูง จุ่มโคนกิ่งในสารละลายเร่งรากเพียง 5-10 วินาที แล้วยกขึ้น
  2. วิธีแช่ (Prolonged soaking method) โดยเตรียมสารเร่งรากในรูปสารละลาย ความเข้มข้นต่ำ แล้วแช่กิ่งปักชำในสารเร่งรากนาน 10-24 ชั่วโมงเพื่อให้ค่อยๆ มีการดูดซึม เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากใช้เวลานาน และอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อสาเหตุโรคพืชระหว่างการแช่กิ่งปักชำ ใช้เวลาในการปฏิบัตินานโดยนำกิ่งปักชำแช่ลงในสารเร่งรากความเข้มข้นต่ำนาน 10-24 ชั่วโมงหลังจากนั้นจึงนำกิ่งลงไปปักชำ วิธีการนี้ใช้เวลานานอีกทั้งอาจเกิดการแพร่กระจายในช่วงแช่สารเคมี
  1.  การใช้สารเคมีในรูปผง (Powder method) นำโคนกิ่งปักชำจุ่มน้ำ เพื่อให้มีความชื้น จากนั้นนำไปจุ่มในสารเร่งรากซึ่งอยู่ในรูปผง เคาะกิ่งปักชำเบาๆ เพื่อให้สารเร่งรากส่วนเกินที่ติดอยู่ หลุดออก ก่อนนำไปปักชำต่อไป แม้สารเร่งรากในรูปผงจะมีความคงตัว เก็บไว้ใช้ได้นาน แต่การให้สารเร่งรากกับกิ่งปักชำทำได้ช้ากว่าวิธีจุ่มเร็ว และกิ่งปักชำแต่ละกิ่งได้รับสารเร่งรากในปริมาณไม่เท่ากัน

 การจัดสภาพแวดล้อมในการปักชำกิ่ง

  1. การจัดการแสง และความชื้นในบรรยากาศรอบๆกิ่งปักชำ สภาพในการปักชำกิ่งปักชำมะนาวที่มีใบติดอยู่ด้วย จะทำกลางแจ้ง เพื่อให้ใบสามารถสังเคราะห์แสง สร้างอาหารและสารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อการเกิดราก การได้รับแสงอย่างเพียงพอ และเหมาะสมจะทำให้การเกิดรากดีขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดสภาพในการปักชำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง เพื่อลดการคายน้ำของใบ รักษาความสดของใบ และป้องกันไม่ให้ใบร่วง โดยทั่วไปจะวางกิ่งปักชำในกระบะพ่นหมอก ซึ่งใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติในการพ่นละละอองน้ำออกมาเป็นระยะตลอดช่วงกลางวัน เพื่อรักษาระดับความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศรอบๆ กิ่งปักชำ น้ำที่ใช้ต้องสะอาด มีคุณภาพดี เพื่อป้องกันการเน่าเสียของกิ่งปักชำ

           นอกจากกระบะพ่นหมอกที่ก่อเป็นโครงสร้างถาวรแล้ว ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ตาข่ายพลาสติกขึงเป็นผนังกระบะพ่นหมอกแทนการก่ออิฐ ช่วยป้องกันลม รักษาความชื้นให้กับกิ่งพันธุ์ระหว่างการปักชำได้ดีเช่นกัน

           ในกรณีไม่มีระบบพ่นน้ำอัตโนมัติ และมีจำนวนกิ่งปักชำไม่มาก อาจควบคุมความชื้นในบรรยากาศรอบๆ กิ่งปักชำโดยวางถุงปักชำไว้ในกระโจมพลาสติกใส หรือใช้ถุงพลาสติกใสครอบกิ่งปักชำไว้ แต่วิธีนี้ต้องทำในที่ร่มหรือมีการพรางแสงช่วย เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิภายในกระโจมหรือถุงพลาสติกที่ครอบไว้สูงเกินไปจนเป็นอันตราย   

  1. การจัดการวัสดุปักชำ วัสดุที่ใช้ในการปักชำกิ่งต้องสะอาด ปราศจากเชื้อสาเหตุโรคพืช เก็บความชื้นได้มาก ขณะเดียวกันมีอากาศผ่านได้สะดวก สามารถยึดพยุงกิ่งปักชำไว้ได้จนกระทั่งออกราก แต่ไม่จำเป็นต้องมีธาตุอาหารของพืชในนั้นวัสดุปักชำแต่ละชนิด รักษาความชื้น และมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ทำให้การออกรากแตกต่างกันได้ ซึ่งวัสดุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบ กับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน